วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

พัฒนาภาษาอังกฤษ เตรียมเด็กไทยสู่อาเซียนและเวทีโลก


พัฒนาภาษาอังกฤษ 
เตรียมเด็กไทยสู่อาเซียนและเวทีโลก




          ในสังคมโลกปัจจุบัน คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลของโลกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย  และเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อย จากอิทธิพลของความก้าวไกลทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร  ส่งผลให้ภาษาอังกฤษยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร การศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงการประกอบอาชีพ
          หลักสูตรการศึกษาระดับขั้นการศึกษาพื้นฐาน ไม่ได้มองข้ามความสำคัญและความจำเป็นของภาษาอังกฤษ  มีการกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานซึ่งนักเรียนทุกคนต้องได้เรียนรู้  เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน เข้าใจความแตกต่างของภาษา การคิด สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และสามารถสื่อสารกับชาวชาติได้ รวมทั้งช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้ง่ายและกว้างขึ้น ในขณะที่ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น  ภาษาจีน  ภาษาญี่ปุ่น  ภาษาเกาหลี เป็นต้น สถานศึกษาสามารถจัดสอนได้ตามความเหมาะสมโดยให้อยู่ในดุลพินิจ
          จะเห็นว่าได้ว่าในบ้านเรา แม้รัฐบาลบังคับให้ทุกคนเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน   แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษ หรือไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้  ทั้ง ๆ ที่รวมเวลาในการเรียนภาษาอังกฤษแล้ว  ส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรือแม้แต่ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือแม้กระทั่งปริญญาโทยังมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้
          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการสรุปผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในปีล่าสุด ที่ดำเนินการโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดยจัดสอบ 8 กลุ่มสาระทุกช่วงชั้นคือ  ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี  พบว่า  ในระดับชั้น ป.6  มีผู้เข้าสอบประมาณ 898,000 คน วิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือภาษาอังกฤษ 31.75 และค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ สุขศึกษาและพลศึกษา  64.75  ส่วนชั้น ม.3  มีผู้เข้าสอบ 794,000 คน  วิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ 22.54  และค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สุขศึกษาและพลศึกษา 56.70  สำหรับชั้น ม.6  มีผู้เข้าสอบ 350,000 คน วิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ 23.98  ส่วนค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ภาษาไทย 46.47
          จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดทุกระดับชั้นทั้ง ป.6 ม.3 และ ม.6  แม้ว่าทุกวันนี้ เด็กไทยจะมีแนวทางและโอกาสในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่หลากหลายขึ้น  ทั้งจากครูผู้สอนในห้องเรียน  สื่อ  เพลง ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต แต่ยังมีคำถามเสมอว่า ทำไมเด็กไทยปัจจุบันพัฒนาการทางภาษาอังกฤษยังไม่ได้แตกต่างไปจากสมัยก่อนมากนัก หลายคนมีมุมมองเสนอทางออกที่แตกต่าง เช่น ถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาการเรียนการสอนใหม่   ควรปรับวิธีการถ่ายทอดของครูใหม่ ควรจัดครูสอนที่ตรงวุฒิ ควรปรับหลักสูตรใหม่ เป็นต้น
          จริงๆ แล้ว คงไม่มีสูตรสำเร็จรูปใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในการแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละคน แต่ละย่อมจำเป็นต้องใช้วิธีการที่มีความแตกต่างหลากหลาย กรณีกลุ่มเด็กที่มีความสนใจกระตือรือร้นที่จะเรียนสามารถเลือกใช้วิธีการใดก็ได้  แต่สำหรับเด็กกลุ่มอื่นๆ ต้องไม่มองข้ามความแตกต่างของเด็กแต่ละคน  เช่น ฐานะของครอบครัว การศึกษาของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมของเด็ก การเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยี  เป็นต้น
          มีหลากหลายวิธีที่เสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาภาษาอังกฤษของเด็กไทย เช่น การสอนให้นักเรียนรู้คำศัพท์จำนวนมาก  เพราะปัญหานักเรียนรู้ศัพท์น้อยนั้นเป็นสาเหตุสำคัญโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ และยังก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอีกหลายอย่างตามมา การสอนภาษาอังกฤษในแต่ละชั่วโมง จำเป็นต้องให้นักเรียนได้ฝึกครบทุกทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน เป็นต้น
          “การที่จะแก้ปัญหาภาษาอังกฤษบกพร่องของคนไทยนั้น เราควรจะรวมวิธีการสอนแบบโฟนิคส์ และวิธีสอนอ่านเป็นคำเข้าด้วยกัน มี 7  ขั้นตอนในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้เกิดความชำนาญและคล่องแคล่วที่รวมทุกทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียนเข้าด้วยกัน  เป็นการสอนภาษาอังกฤษด้วยกรอบของทฤษฎีใหม่   วิธีสอนอ่านที่ได้ผลที่สุดจะต้องประกอบด้วยการปูพื้นฐาน 3  ประการคือ (1) การฝึกให้รู้จักหน่วยเสียงทุกเสียงของภาษาอังกฤษ (phonemic awareness) หรือการฟัง (2) การฝึกโฟนิคส์ (phonics) เพื่อเชื่อมโยงตัวอักษรกับหน่วยเสียง หรือการฝึกอ่านออกเสียงอย่างเป็นระบบ  (3) การฝึกทักษะภาษาอังกฤษต่อ  ด้วยวิธีการของการสอนอ่านเป็นคำ (whole word method) หรือแบบองค์รวม (whole language ) โดยต้องฝึกจนชำนาญ  แล้วควรนำความรู้มาใช้ในการฝึกภาคปฏิบัติจริง เช่น อ่านนิทาน สารคดี ข่าว บทความ เพราะถ้าผู้เรียนอ่านภาษาอังกฤษมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่เขาจะเขียนเก่งก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น  นี่คือเป็นทฤษฎีใหม่ในการสอนภาษาอังกฤษที่รวมการพัฒนาทุกทักษะเข้าด้วยกัน”  จากข้อเขียนบางตอนของ ดร.อินทิรา ศรีประสิทธิ์
          เมื่อประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่กำลังจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้ ภาษาอังกฤษยิ่งทบทวีความสำคัญและความจำเป็นมากขึ้น คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมพัฒนาเด็ก เยาวชน และคนไทยให้มีคุณภาพและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สังคมคาดหวัง  ครูผู้สอนซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาสังคม ต้องมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน  ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา  แสวงหาเทคนิควิธีสอนใหม่ๆ  เพื่อสร้างบรรยากาศและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และผู้บริหารต้องให้ความสำคัญพร้อมสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนในการเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติและภาษาต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ในสังคมอาเซียนและเวทีโลกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น